3/20/08

17 ก.ค. สธ.รับเครื่องตรวจอาหารไฮเทคคุมเข้มชายแดน

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับมอบเครื่อง เอฟที เอ็นไออาร์ สเป็คโทรมิเตอร์ (FT-NIR Spectrometer : Fourier Transform Neared Infrared Spectrometer) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณสารในอาหาร เครื่องดื่ม และยา ฯลฯ พร้อมอุปกรณ์สำหรับการตรวจ 1 ชุด มูลค่ารวม 3,000,000 บาท จากนางเครือวัลย์ สมณะ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเบคไทย กรุงเทพอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ จำกัด และนายแฟรงค์ เอ็ม วาแสคซ์ (Mr. Frank M. Wasacz) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค บริษัทเทอร์โม ฟิชเชอร์ ไซเอนทิฟิค (Thermo Fisher Scientific) ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับมอบในวันนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยมีใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติเด่นคือ ไม่ต้องใช้สารเคมีในกระบวนการทดสอบ จึงไม่ทำลายตัวอย่างสินค้าที่นำมาตรวจสอบ และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถวัดค่าคุณภาพและปริมาณสารที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข จะนำเครื่องมือดังกล่าวไปประจำที่ด่านอาหารและยาตามแนวชายแดน เพื่อตรวจสอบอาหารและยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาการทดสอบใช้ชุดตรวจสอบสารเคมีเบื้องต้น เมื่อพบตัวอย่างที่สงสัยจะส่งตรวจสอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี 14 ศูนย์ทั่วประเทศ และตรวจยืนยันผลที่ห้องปฏิบัติการของสำนักพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง โดยการทดสอบต้องใช้น้ำยาเคมีในการตรวจวิเคราะห์ และใช้ระยะเวลาตรวจสอบนาน ทำให้สินค้าที่เป็นผลไม้ หรืออาหารบางชนิดเน่าเสีย เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการ
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องเอฟที เอ็นไออาร์ สเป็คโทรมิเตอร์ เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์คุณภาพสารเคมี ด้วยระบบแสงอินฟราเรด ช่วงความยาวคลื่น 780 ถึง 2,500 นาโนเมตร ให้แสงตกกระทบบนตัวอย่างที่ต้องการตรวจ โดยโมเลกุลของสารที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบจะเกิดการสั่นและดูดกลืนแสง ทำให้ไม่ต้องใช้ความร้อนหรือใส่สารเคมีเพิ่มเติม สามารถตรวจสอบปริมาณสารที่ต้องการวิเคราะห์ว่าตรงตามค่ามาตรฐานหรือไม่ เช่น ค่าปริมาณร้อยละของสารโปรตีน ไขมัน ความชื้น สารอะไมโลส สารอะไมโลเพคติน รวมทั้งน้ำตาล กรดซิตริกในผลไม้ และสารสำคัญต่าง ๆ ในเม็ดยาและอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำและไม่ก่อพิษสิ่งแวดล้อม โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จะอบรมวิธีการใช้เครื่องมือแก่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจวิเคราะห์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันที่ 17 และ 18 กรกฎาคมนี้.
Google
 

Relate Post