7/8/08

16-22 กรกฎาคม 2550 นวัตกรรมระบบการจัดการขยะชุมชนของประเทศเยอรมนี

เมื่อวันที่ 16-22 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา สนช.ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการจัดการของเสียของไทย เดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษานวัตกรรมระบบการจัดการขยะชุมชนของบริษัท FRITZ SCHAFER GMBH ประเทศเยอรมนี ซึ่งนอกจากจะมีหลักการบริหารการคัดแยกขยะที่ดีแล้ว ยังได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการขยะชุมชนให้สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งขยะชุมชนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในแถบทวีปยุโรปในขณะนี้ เพราะเนื่องจากอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า ส่งผลให้ปริมาณขยะจากชุมชนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับเมื่อปลายปี 2006 ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปใต้ออกกฎหมายที่ต่อต้านการฝังกลบขยะที่ไม่ได้รับการบำบัด (Untreated waste) ทำให้ทุกประเทศต้องหันมาให้ความสนใจในระบบการจัดการขยะชุมชนที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ได้กำหนดไว้
การจัดการขยะชุมชนที่ด.....ต้องเริ่มจากระบบการคัดแยกขยะต้นทางที่ดี
ระบบการจัดการขยะชุมชนจะไม่มีประสิทธิภาพได้เลย หากไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้องในเรื่องระบบการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งบริษัท FRITZ SCHAFER GMBH ผู้ที่ได้รับหน้าที่จากหน่วยงานในท้องถิ่นของเมืองให้ดำเนินการบริหารจัดการระบบการเก็บขยะชุมชนเมือง Neunkirchen ได้ใช้ความพยายามในการสร้างระบบการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนปัจจุบันสามารถจัดการขยะของชุมชนได้อย่างสมบูรณ์ โดยบริษัทฯ ได้แบ่งการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทตามชนิดของถังขยะ คือ
1. ถังขยะสีน้ำตาล สำหรับขยะประเภทเศษอาหารและขยะอินทรีย์
2. ถังขยะสีน้ำเงิน สำหรับขยะประเภทเศษกระดาษ
3. ถังขยะสีเขียว สำหรับขยะประเภทขวดแก้ว
4. ถังขยะสีเหลือง สำหรับขยะประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ซึ่งระบบคัดแยกนี้ช่วยให้สามารถคัดแยกขยะชุมชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ถึงร้อยละ 70 โดยสามารถแยกขยะอินทรีย์ได้ร้อยละ 35 ขยะเศษกระดาษร้อยละ 20 ขยะขวดแก้วร้อยละ 10 ขยะพลาสติกร้อยละ 7 ซึ่งส่วนที่เหลือร้อยละ 30 เท่านั้นที่ต้องนำไปเผาในเตาเผาขยะ หากแต่การที่จะทำให้ชุมชนเข้าใจถึงแนวทางของการคัดแยกขยะแต่ละประเภท รวมถึงการศึกษาถึงวันเวลาที่เหมาะสมในการมาจัดเก็บขยะในชุมชนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจัดการทั้งด้านค่าใช้จ่าย ด้านแรงงานและการขนส่ง บริษัทฯ ต้องมีการให้ความรู้และการอบรมชุมชนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จนสามารถสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะชุมชนได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาดูงานพบว่า การจัดเก็บขยะจากชุมชนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บทุกวัน หากแต่จากการศึกษาและทดลองอย่างต่อเนื่อง พบว่าการจัดเก็บขยะแต่ละชนิดสามารถมีความห่างของวันจัดเก็บได้สูงสุดไม่น้อยกว่า 14 วันซึ่งทำให้มีความคุ้มค่าด้านการจัดการขยะชุมชนอย่างสูงสุดขีดความสามารถตรงนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบและการคิดค้นนวัตกรรมการออกแบบถังขยะให้สามารถเก็บขยะประเภทเศษอาหารและขยะอินทรีย์ในชุมชนให้ได้นานถึง 14 วัน โดยไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน
นวัตกรรมระบบการคัดแยกขยะ.....หัวใจของการพัฒนามูลค่าเพิ่มจากขยะ
การนำระบบการคัดแยกขยะจากต้นทางมาใช้ในประเทศเยอรมนี ทำให้สามารถสร้างรายได้ใหม่ในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้อย่างเด่นชัดดังนี้คือ ขยะจากถังสีน้ำตาล ซึ่งเป็นขยะประเภทเศษอาหารและขยะอินทรีย์ จะนำมาผ่านกระบวนการคัดแยกเอาเศษพลาสติกและชิ้นส่วนของเศษวัสดุอื่น ๆ ออก โดยใช้เครื่องร่อนเพื่อคัดแยกประเภทและขนาดของวัสดุ (Trommel) ขยะอินทรีย์ที่คัดแยกได้ก็จะนำไปผ่านกระบวนการหมักเพื่อให้ทำเป็นดินหรือปุ๋ยต่อไป (ปุ๋ยขนาด 40ลิตร/ถุง ขายได้ถุงละ 115-150 บาท)
ส่วนขยะจากถังสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นประเภทเศษกระดาษ จะถูกจัดการโดยระบบคัดแยกที่ใช้ Near Infrared Detector เพื่อคัดแยกกระดาษชนิดหมึกพิมพ์ออกจากกระดาษประเภทกล่อง (Cardboard) เพื่อขายต่อในราคาประมาณ 5,100 บาทต่อตัน สำหรับชนิดที่มีหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำเยื่อกระดาษใหม่ และราคา 3,700 บาทต่อตันประเภทกล่อง
ขยะจากถังสีเขียว คือประเภทขวดแก้ว เนื่องจากมีการคัดแยกชนิดของขวดแก้วตามสีของขวดตั้งแต่ต้นทาง คือ ขวดใสและขวดสี ทำให้เมื่อขวดแก้วเข้ามายังสถานีคัดแยก ก็ดำเนินการบดให้แตกและผ่านกระบวนการล้างและหลอมเพื่อนำไปใช้ใหม่ได้ทันที
ส่วนขยะจากถังสีเหลือง ประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะคัดแยกโดยใช้ระบบ Near Infrared Detector เช่นกัน แยกชนิดของพลาสติกออกเป็น Poly Ethylene (PE) และ Poly Ethylene Terephthalate(PET) และยังสามารถคัดแยกขยะกระป๋องและโฟมออกจากระบบได้ด้วยโดยราคาขายต่อสำหรับขวด PET คือ 4,600 บาทต่อตัน ขวด PE 3,700 บาทต่อตัน กระป๋อง 5,100 บาทต่อตัน และโฟมราคา 1,400 บาทต่อตัน
มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมการคัดแยกขยะต้นทาง.....เพื่อประโยชน์ของชุมชนที่ยั่งยืน
ความร่วมมือของชุมชนเป็นปัจจัยสูงสุดของระบบการจัดการขยะที่ดีของทุกประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองได้ถ้าไม่มีระบบการจัดการคัดแยกขยะต้นทางที่ดี ดังนั้นหากเราสามารถปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อระบบการคัดแยกขยะต้นทางอย่างถูกวิธี รวมถึงการออกกฎระเบียบและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมระบบการคัดแยกขยะที่ดีจากภาครัฐก็น่าจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านจัดการขยะชุมชนของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้เช่นกัน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 27 ฉบับเดือนสิงหาคม-กันยายน 2550 หน้า 3
Google
 

Relate Post